iMed : ประวัติความเป็นมา
 
iMed : ประวัติความเป็นมา iMed : ทีมงาน iMed iMed : ร่วมงาน มาเป็นทีมงานกับ iMed

iMed

จาก Blog ใน gotoknow โดยนายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท

กำเนิด iMed

     หลังจากตอนที่แล้วต้องบอกว่า Hospital OS อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวว่าจะไปทางไหนดี ผมได้ลองประเมินความเสี่ยงถึงความอยู่รอดของโครงการ ก็พบว่ามีสองสามปัจจัยที่สำคัญ คือ เทคโนโลยีความสามารถของโปรแกรม และเรื่องทางการเงิน เพราะหากไม่มีทางหนีทีไล่ไว้ก่อน อาจจะถึงจุดตันได้
     ตอนนั้นก็เริ่มอ่านหนังสืออีกรอบ ก็พบว่าเทคโนโลยีที่น่าสนใจคือ Web services เพราะมีความยืดหยุ่น คล่องตัว และมีข้อจำกัดน้อย ประกอบกับช่วงนั้นได้มีโอกาสไปวิเคราะห์ระบบ ของรพ. ศิริราช ซึ่งได้ทราบว่า Hard disk ของเครื่อง server ที่เป็นระบบหลักอยู่เริ่มมีปัญหาและหาอะไหล่ไม่ได้ หากจะต้องทำระบบสำรอง (contingency) จะทำอย่างไร นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ไป “คิด” ปัญหายากๆ นี้ เพราะที่รพ. ศิริราช นับว่าเป็น site ที่ใหญ่ที่สุด OPD 5000 คน/วัน มีตึกมากมายเกินกว่าจะจำไหว เตียงอีกเป็นพัน จากโจทย์นั้นทำให้เปิดหัวสมอง จำได้ว่าตอนไปเดินในรพ. เหมือนในหนัง Metrix เพราะคนไหลไปมาเต็มไปหมด แนวคิดที่ได้เลบเอามาออกแบบ iMed ว่าหากทำระบบให้รับได้ไม่จำกัด load จะทำอย่างไร

     อย่างที่บอกครับ เรื่องเทคโนโลยีเพราะ hospital OS ใช้ technology client server บน J2SE ของ Java ผมจึงตัดสินใจทำอีกระบบที่อยู่คนละเทคโนโลยีขนานกันไป ซึ่งต้องคัดสินใจว่าจะเลือก Web services ของค่ายไหน .Net or J2EE ตอนนั้น .Net ยังแบเบาะอยู่ ก็เลยตัดสินใจ J2EE และดึงทีม Hospital OS ออกมาสามสี่คน มาพัฒนาโดยใช้ชื่อว่า iMed และตอนหลังตั้งชื่อเป็นบริษัทแยกออกมาชื่อ International Medical Software Co,. Ltd. เพราะตั้งใจอีกอย่างว่า จะทำขายเมืองนอก !!!!!! บ้าไหม
     วิธีคิดแบบทำอะไรขนานกันไป ดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมการทำงานของทีมเราไปแล้ว โบราณเขาถือเหยียบเรื่อสองแคม มันจะไม่ได้ดีสักเรื่อง
     เพราะคิดไปไกลและใหญ่ เลยคิดต่อว่า หาก iMed สามารถทำเงินได้ ก็คงจะดีต่ออนาคตของทุกคนในทีมเลยสมัครเขาเป็นนักเรียนธุรกิจของศูนย์บ่มเพาะ Software park ได้รับความกรุณาจาก ดร. รอม หิรัญพฤกษ์ และคุณ สุวิภา วรรณสาภพ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการคนก่อนได้ให้โอกาส และข้อคิดเห็นต่างๆ มากมาย ใช้เวลาเพาะอยู่ 1ปี เขียนแผนธุรกิจได้คะแนนสูงสุด และแทบจะเรียนแบบทางไกลเพราะอยู่ภูเก็ตต้องให้ทีมงาน คือ มุขดา ที่ประจำที่สำนักงานตึกซอฟต์แวร์พาร์คเข้าเรียนแทนและส่งข้อมูลมาให้ 
     iMed จึงเริ่มพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ตัวแรกๆ ของเมืองไทยที่เป็น Web application และใช้เทคนิค  แยก client application server และ database server ออกจากกันและสามารถขยายได้อย่างไม่จำกัด จะทำเป็น application service center ก็ได้ ใช้ Database อะไรก็ได้ แต่ใช้ไปซื้อโอเลี้ยงไม่ได้
     ทำออกมาแนวคิดดีมากต่อไปก็เป็นการขาย เนื่องจากไม่มีใครเหลือ ผมก็ต้องเป็นเซลแมนเอง ครั้งหนึ่งไปขายรพ. แห่งหนึ่งเป็นเครือนั่งรออยู่ครึ่งวัน หอบเครื่องไปสองเครื่อง ได้คุย 10 นาที นัดให้มาอีกนัดมาก็รออีก ได้คุย คราวนี้เขาบอกว่า
     “ซอฟต์แวร์ดีครับ แต่เราสนใจจะซื้อทั้งซอฟต์แวร์และบริษัท หมอคิดอย่างไร”
     “ขอผมไปปรึกษาผู้ถือหุ้นก่อนครับ”
     ซึ่งก็ผมเองนั่นหละ สุดท้ายก็คิดตก คือไม่ขายมันทั้งสองอย่าง จนแล้วหยิ่ง
     หลังจากนั้นก็หิ้วกระเป๋า ขึ้นมอเตอร์ไชค์ รถไฟฟ้า หน้าดำ ไปนำเสนอ เคยเห็นคนเดินขายธูปไหมครับ ผมก็ประมาณนั้น เดินสวนกันบนถนนก็อดยิ้มไม่ได้ ให้กำลังใจ ครั้งหนึ่งไปเสนอที่รพ. แถวบางนา คนฟังนั่งเบลอๆ ไม่รู้ว่าเคลิ้มหรือเปล่า ตอนจบ
     “โอ ดีมาก ตัวนี้ ผมเอาเลย แต่ขอราคา …..”
     ลดลงจากราคาที่เสนอ แค่ 10 เท่าเอง ก็ไม่ขาย
     อีกโรงแถวเพชรเกษม อยากได้  scan opd card ทำไปเสนอเลย เอา scanner ตัวเท่าบ้านไปด้วย หอบไปหนักประมาณ 8 กก. พร้อมโน๊ตบุค ชอบมาก ตั้งใจฟังกันเต็มที่ ได้ข่าวว่าตอนนี้เขาเขียนระบบ scan เอง ไม่ซื้อของเรา
     นอกจากนี้ยังมีเรื่องสนุกอีกมาก ทำระบบส่งคลื่นไฟฟ้าหัวใจผ่านเครือข่าย CDMA โดย Hack ข้อมูลจากเครื่อง Monitor ECG  ออกมาทาง RS232 และทำเป็น ecgML หรือ XML ของไฟล์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทันสมัยมากขณะนั้น iMed application ทำงานบน PDA  สั่งยา ดูผลเลือดได้
     ต้องยอมรับว่าทีมงานเก่งมากครับ ขออะไรทำได้หมดแต่ขายยังไม่ได้ (ฮา)  ไม่รู้เป็นอะไร มานั่งทบทวนเพราะไม่มีใครอยากเป็นแห่งแรก กรรมหละซิ จะทำอย่างไรดี สุดท้ายได้มาพบท่านผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร รพ. กรุงธน คุณจักรพันธ์ สุขโพธารมณ์ ท่านเป็นนักพัฒนาโปรแกรม รพ. เหมือนกัน แต่ท่านยอมเลือกใช้เป็นแห่งแรก และได้ให้คำแนะนำต่างๆ มากมายจนถึงปัจจุบันนี้
     ผมไม่รู้ว่าทำไมมีคนบอกว่า เหยียบเรือสองแคม จับปลาสองมือ ไม่ดี ตอนนี้พบว่าทำแบบนี้แม้จะเหนื่อยและปวดหัวเป็นสองเท่า แต่ก็อุ่นใจว่ามีตัวตายตัวแทนกัน ช่วงที่ไม่มีเงินทุนสนับสนุน Hospital OS  ก็ได้จาก iMed มาช่วย ช่วงที่ iMed ขายไม่ได้ ก็ได้ Hospital OS คอยช่วย และทำให้ทั้งสองทีมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันตลอด แม้ว่าบางทีจะเหน็บแนมกันบ้างพอเป็นพิธี

อ้างอิง : https://www.gotoknow.org/posts/152679